วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทำสต๊อปโมชั่นกับ MS-09RS Rick Dom (ไม่มีวิธีทำ)

ความฝันอย่างหนึ่งสมัยเรียนมัธยมต้นก็คือการได้เข้าร่วมทีมสเปเชียลเอฟเฟคระดับโลกอย่าง ILM เรื่องนี้ต้องขอบคุณสำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชันสำหรับวารสารรู้รอบตัว ที่นำเสนอเรื่องราวของการสร้างสเปเชียลเอฟเฟคในภาพยนตร์ให้ได้อ่าน

แม้ ความฝันจะถูกลืมไปชั่วระยะหนึ่ง และชีวิตก็หักเหสู่งานสอนแบบกู่ไม่กลับแล้ว นาน ๆ ทีก็นึกถึงความฝันเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นพอให้อบอุ่นใจบ้าง ช่วงนี้ (29/07 - 02/08) นักศึกษากำลังสอบกลางภาค ผมก็ไม่มีชั่วโมงสอนนอกจากงานธุรการประจำวัน ตอนกลางคืนก็เลยมีเวลาต่อ MS-09RS Rick Dom จนเสร็จ (จนได้) ทีนี้กล่องที่ซื้อมามันมี 2 ตัว อีกตัวหนึ่งคือ RX-78-3 Gundam ซึ่งต่อเสร็จไปแล้ว (เมื่อนานมาแล้ว) ก็เลยเอามาเล่นเป็นเด็ก ๆ ไปเลย

เล่นไปเล่นมานึกได้ว่ามัน มีเทคนิคที่เรียกว่าสต๊อปโมชั่น (Stop Motion) ที่สามารถทำให้หุ่นพวกนี้มันเคลื่อนไหวได้นี่นะ เทคนิคสต๊อปโมชั่นที่ว่านี้ก็คือ ตั้งกล้องให้อยู่กับที่ ขยับท่าทางให้หุ่นทีละนิด ๆ แล้วก็บันทึกภาพของหุ่นทีละเฟรม ๆ หลังจากนั้นก็นำภาพแต่ละเฟรมมาต่อกันเป็นภาพเคลื่อนไหว

สำหรับ สมัยก่อนเรื่องแบบนี้คงเป็นเรื่องวุ่นวายไม่ใช่น้อย แต่ในยุคคอมพิวเตอร์ + โอเพนซอร์ส เรื่องการต่อเฟรมภาพให้กลายเป็นภาพยนตร์สามารถทำได้ง่าย ๆ สำหรับผมเองใช้โปรแกรม OpenShot ดำเนินการเรื่องนี้
การเคลื่อนไหวยังดูตะกุกตะกักน่าผิดหวังอยู่ เนื่องจาก Frame rate ต่ำมาก โดยปกติหนังเงียบเก่า ๆ จะมี Frame rate ไม่น้อยกว่า 14 FPS หรือ 14 ภาพภายใน 1 วินาที! ส่วนสต๊อปโมชั่นที่ทำอยู่นี้ภาพละ 4 วินาที น้อยกว่ากัน 56 เท่า ถ้าจะทำให้ได้ 14 FPS และให้เคลื่อนไหวอยู่สัก 1 นาที ก็จะหมายถึงต้องบันทึกภาพของหุ่นที่จับให้เคลื่อนไหวทีละน้อย ๆ รวม 840 ภาพ! เรื่องยากก็คือขยับหุ่นทีละน้อยนี่แหละครับ ซึ่งก็น่าทดลองดูว่าจะเป็นยังไง

แต่ผมก็ทำใจไว้แล้วละว่าอาจต้องรออีกหลายปี