วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ติดตั้งเครื่องพิมพ์ Canon LBP3050 บน Debian (wheezy)

[ T_T สุดท้ายก็ไม่สามารถพิมพ์ภาพได้ครับ นอกจากนี้เมื่อตอนทดสอบยังไม่ได้ทดสอบกับภาษาไทย พอทดสอบกับภาษาไทยก็ยิ่งแย่ ตัวหนังสือตีกันไปหมด ตอนนี้ยกธงขาวแล้ว แฟนจะเหน็บก็ต้องยอมแล้วล่ะ]

ที่บ้านมีเครื่องพิมพ์อยู่เครื่องหนึ่งคือ Canon LBP3050 เป็นของแฟน พอจัดห้องทำงานที่บ้านใหม่แฟนก็ยกเครื่องพิมพ์เครื่องนี้ให้ แต่ว่าเวลาเอามาใช้กับเครื่องคอมพ์ของผมดันพิมพ์งานไม่ออก!! ทั้ง ๆ ที่ Linux ตรวจเจอเครื่องพิมพ์

งานเข้าล่ะครับ เพราะแฟนผมชอบเหน็บให้เจ็บใจเล่น ๆ เวลาที่ Linux ทำอะไรบางอย่างไม่ได้ในขณะที่ Windows ของเธอทำได้ (ผมก็เหน็บเธอเหมือนกันเวลาที่ Windows ทำอะไรบางอย่างไม่ได้ในขณะที่ Linux ทำได้ ก็เจ๊ากันไปนะ ฮิ ฮิ)

ผมพบว่าระบบตรวจจับเครื่องพิมพ์อัตโนมัติของ Linux ใช้ไม่ได้กับเครื่องพิมพ์บางจำพวก และเจ้า Canon LBP3050 เครื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ ในกรณีของ Canon LBP3050 นั้นผมคิดว่าเป็นเพราะ LBP3050 เป็นเครื่องพิมพ์ที่ใช้เทคโนโลยี CAPT - Canon Advanced Printing Technology ซึ่งทาง Canon โฆษณาว่าสามารถพิมพ์งานได้เร็ว และพิมพ์งานที่ขนาด (หน่วยความจำ) ใหญ่ได้โดยไม่ต้องเพิ่มหน่วยความจำ ... เอาเถอะ ... จะเป็นอะไรก็ช่าง เอาเป็นว่าถ้าจะใช้เครื่องพิมพ์ตระกูล CAPT จะต้องมี CAPT Driver ไม่ว่าจะเป็นบน Linux Mac หรือ Windows ก็ตาม ทีนี้ในระบบ Linux เราใช้ CUPS - Common UNIX Printing Solution ก็แปลว่าเจ้า CAPT Driver ที่ว่าจะต้องคุยกับ CUPS ให้รู้เรื่อง และการทำให้มันคุยกันรู้เรื่อง ก็ต้องใช้การติดตั้งที่ถูกต้องจึงจะสำเร็จ

การติดตั้งมีด้วยกัน 4 ขั้นตอนคือ
  1. จัดหาแพคเกจที่จำเป็น
  2. ติดตั้งแพคเกจดังกล่าว
  3. ติดตั้งเครื่องพิมพ์ลงบน CUPS
  4. ผูกเครื่องพิมพ์เข้ากับ Service ccpd
  5. ใช้ insserv สั่งให้เริ่มบริการ ccpd โดยอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเริ่มระบบใหม่
  6. เรียกใช้ ccpd เพื่อใช้งานเครื่องพิมพ์
รายละเอียดการติดตั้งมีอยู่ในแฟ้มเอกสารที่มาพร้อมกับแพคเกจที่จำเป็น แต่จะขอบันทึกไว้เผื่อว่าจะได้ใช้ในภายหลัง โดยจะเขียนอธิบายตามรายการข้างต้นไปทีละข้อ ๆ

จัดหาแพคเกจที่จำเป็น
ดาว์นโหลดได้ที่เว็บไซต์ Canon ออสเตรเลียเลยครับ (ค้น ๆ ดูมีที่สิงค์โปร์ด้วย ส่วนเมืองไทยไม่มีนะครับ) แฟ้มที่โหลดได้คือ CAPT_Printer_Driver_for_Linux_v220_uk_EN.tar.gz ขนาดประมาณ 33 MB
เมื่อได้มาแล้วก็แตกแฟ้มไว้ที่ไหนสักแห่ง ซึ่งต่อไปจะขอเรียกไดเรคทอรีนี้ว่า #Canon เพื่อความสะดวก

ติดตั้งแพคเกจดังกล่าว
เมื่อแตกแฟ้มแล้วจะพบแพคเกจ
  • cndrvcups_common_2.20-1_i386.deb  และ
  • cndrvcups_capt_2.20-1_i386.deb
อยู่ในไดเรคทอรี #Canon/CAPT_Printer_Driver_for_Linux_v220_uk_EN/32-bit_Driver/Debian ติดตั้งแพคเกจตามลำดับที่แสดงไว้ข้างต้น โดยใช้ GDebi หรือ dpkg ก็ได้ ในกรณีของผมเองปัจจุบันใช้ Debian wheezy อยู่ จะขาดแพคเกจที่จำเป็นไปหนึ่งแพคเกจคือ gs-eps ผมก็แก้ไขโดยการเพิ่ม Repository ของ squeeze ลงไปใน sourcelist ก็พบแพคเกจ gs-eps ซึ่งเป็น Transition Package อยู่ ติดตั้งแพคเกจนี้เข้าไปก็ใช้ได้แล้ว

ติดตั้งเครื่องพิมพ์ลงบน CUPS
เมื่อติดตั้งแพคเกจทั้งสองเสร็จสิ้นให้เริ่ม CUPS ใหม่ซึ่งทำได้โดยใช้คำสั่ง

# /etc/init.d/cups restart

จากนั้นก็เพิ่มเครื่องพิมพ์ลงในคิวของ CUPS ด้วยคำสั่ง

#  lpadmin -p LBP3050 -m CNCUPSLBP3050CAPTK.ppd -v ccp://localhost:59687 -E

เมื่อข้อมูลหลังตัวเลือกต่าง ๆ มีความหมายดังนี้
  • -p [Printer Name] ระบุชื่อที่ระบบเราจะใช้เรียก จะตั้งว่าอะไรก็ได้
  • -m [ppd file] ระบุแฟ้ม ppd ที่เป็นตัว Driver ของเครื่องพิมพ์ของเรา ในรายละเอียดการติดตั้งที่ให้มาพร้อมกับแพคเกจจะบอกว่าเครื่องพิมพ์ของเราจะต้องใช้แฟ้ม ppd ตัวไหน ส่วนรายการเครื่องพิมพ์สำหรับ wheezy จะอยู่ที่ /usr/share/cups/model
  • -v [Device URI] ระบุ URI ที่เราจะให้เป็นทางผ่านข้อมูลสำหรับเครื่องพิมพ์ของเรา URI ที่เขียนไว้ตรงนี้ลอกมาจากรายละเอียดการติดตั้ง จากที่ค้น ๆ ดู ในกรณีทั่ว ๆ ไป ใคร ๆ ก็ใช้ URI นี้ มีบางกรณีของ UBUNTU ที่จะใช้ URI เป็น FIFO0 อันนี้ยังไม่ได้ลองว่าใช้ได้หรือไม่
  • -E เป็นการสั่ง Enable เครื่องพิมพ์
กระบวนการทั้งหมดนี้น่าจะสามารถทำด้วย GUI ได้ด้วย ระบบ->ดูแลระบบ->เครื่องพิมพ์ เพื่อเรียกเครื่องมือตั้งค่าเครื่องพิมพ์ของ GNOME โดยที่ตัวเลือก -E ข้างหลังสุดของคำสั่งนั้นคือการ Enable เครื่องพิมพ์นั่นเอง [ยังไม่ได้ลอง]

หลังจากนี้ถ้าเราเปิดเครื่องมือการตั้งค่าเครื่องพิมพ์ของ GNOME ดู ควรจะเห็นเครื่องพิมพ์ของเราปรากฏอยู่ในรายการด้วย ดังเช่นที่แสดงในรูปนี้ (เราต้องรู้ชื่อของเครื่องพิมพ์ของเรา เพราะเราเป็นคนตั้งชื่อเองด้วยตัวแปรหลังตัวเลือก -p ของคำสั่ง lpadmin)
ตอนนี้ยังใช้เครื่องพิมพ์ไม่ได้นะครับ 
[ตามความเข้าใจของผม] เพราะเราใช้ CAPT ซึ่งมีการ "ยำ" ข้อมูลก่อนส่งออกเครื่องพิมพ์ ดังนั้นถ้าเราส่งไปตรง ๆ เหมือนส่งเข้าเครื่องพิมพ์ประเภทอื่น ๆ เครื่องพิมพ์ก็จะไม่เข้าใจ จึงจำเป็นต้องมีข้อต่อไป

ผูกเครื่องพิมพ์เข้ากับ Service ccpd 
ซึ่งทำได้โดย

# ccpdadmin -p LBP3050 -o /dev/usb/lp0

นี่เป็นการบอก ccpd ว่าเครื่องพิมพ์ CUPS ชื่อ LBP3050 นั้นต่ออยู่กับช่องทางไหน ทีนี้ในคู่มือการติดตั้งเตือนไว้เหมือนกันว่า ถ้ามีเครื่องพิมพ์ USB หลายเครื่อง ลำดับก่อนหลังของ lp จะเรียงตามลำดับการต่อเครื่องพิมพ์เข้ากับคอมพิวเตอร์ ในอินเตอร์เนตมีคำแนะนำการตั้งค่าบริการ ccpd ให้ตั้งค่าเองเมื่อเสียบสาย USB ของเครื่องพิมพ์เข้ากับคอมพิวเตอร์ (แต่เป็นของ UBUNTU นะ) พอดีผมมีเครื่องพิมพ์เครื่องเดียวและต่ออยู่ตลอดเลยไม่สนใจสถานการณ์ที่ว่านี้

หลังจากนี้ ถ้าเริ่มบริการ ccpd ก็จะสามารถพิมพ์ได้เลย การเริ่มบริการ ccpd ทำได้โดย

# /etc/init.d/ccpd start

หรือไม่ก็ใช้ ระบบ->ดูแลระบบ->บริการระบบ เริ่มบริการ ccpd ก็ได้ ถ้าอยากให้บริการ ccpd เริ่มเองทุกครั้งก็ไปขั้นตอนถัดไป

ใช้ insserv สั่งให้เริ่มบริการ ccpd โดยอัตโนมัติทุกครั้งที่มีการเริ่มระบบใหม่
ในการนี้เราจะต้องแก้ไขแฟ้ม /etc/init.d/ccpd โดยการเพิ่มคอมเมนต์ต่อไปนี้เข้าไปในบรรทัดที่สามของ ccpd คอมเมนต์ที่จะเติมนี้ขอแนะนำว่าให้ไปคัดลอกจากต้นฉบับที่คู่มือการติดตั้ง ซึ่งอยู่ใน #Canon/CAPT_Printer_Driver_for_Linux_v220_uk_EN/Doc โดยตรงจะดีที่สุด

### BEGIN INIT INFO
# Provides:         ccpd
# Required-Start:   $local_fs $remote_fs $syslog $network $named
# Should-Start:     $ALL
# Required-Stop:    $syslog $remote_fs
# Default-Start:    3 5
# Default-Stop:     0 1 2 6
# Description:      Start Canon Printer Daemon for CUPS
### END INIT INFO
ผมก็สงสัยว่ามันเป็นคอมเมนต์ แล้วไปเติมมันทำไม เลยเข้าไปอ่านรายละเอียดของ insserv จึงได้ทราบว่าเจ้า insserv นี่จะเข้าไปอ่านคอมเมนต์ในสคริปต์แล้วเติมบริการนี้เข้าไปในรายการที่จะต้องเริ่มอัตโนมัติตอนเริ่มระบบ แต่ว่าแค่เติมคอมเมนต์นี่เข้าไปยังไม่พอ จะต้องเรียกคำสั่ง

# insserv ccpd

ด้วย ในระบบของผมมี Warning ขึ้นมานิดหน่อย แต่อ่าน ๆ ดูแล้วคิดว่าไม่สำคัญมาก ก็ปล่อยผ่านไป ทีนี้ถ้าท่านค้นข้อมูลจากอินเตอร์เนตท่านอาจจะพบวิธีการแก้ไขสคริปต์ที่ว่านี้หลาย ๆ แบบ ผมก็ลองแล้วปรากฏว่าไม่เวิร์ก อาจจะด้วยหลาย ๆ เหตุผล เช่นผมคัดลอกสคริปต์มาไม่สมบูรณ์หรืออะไรก็สุดแท้แต่ สุดท้ายผมมาใช้สคริปต์ต้นฉบับตามคู่มือของ Canon เองนั่นแหละ ถึงได้พิมพ์ได้ในที่สุด

ถึงขั้นตอนนี้ถ้าทั้ง cups และ ccpd กำลังทำงานอยู่ เราก็สามารถพิมพ์งานได้เลย

ระบบ CAPT ให้เครื่องมือกับเรามาอีก 2 อย่างก็คือ
  • captstatusui และ
  • cngplp (ผมเดาว่าคงจะเป็น Canon General Purpose lp)
# captstatusui -P LBP3050

สั่งงานพิมพ์จากบรรทัดคำสั่ง (แทน lpr) ได้โดย

# cngplp -p [Filename to be printed]


หมายเหตุ
ในคู่มือระบุว่าระบบ CAPT จะทำงานได้สมบูรณ์จำเป็นจะต้องติดตั้ง libstdc++5 เสียก่อน แม้ว่าระบบของผมมี libstdc++6 อยู่แล้ว แต่เพราะผมไม่ทราบแน่ชัดว่าใช้ได้หรือไม่ จึงติดตั้ง libstdc++5 ลงไปอยู่ดี

ที่พิมพ์ได้ตอนนี้คือ PS PDF และ ODT ที่ไม่มีรูปภาพ :o ตอนนี้กำลังหาทางอยู่ว่าถ้าจะพิมพ์รูปด้วยจะต้องทำอย่างไร :(

ที่ต้องลำบากลำบนขนาดนี้ เป็นเพราะว่าต้องพยายามใช้เครื่องที่มีอยู่ในเกิดประโยชน์ หากเป็นการพิจารณาซื้อเครื่องใหม่ ท่านอาจมีตัวเลือกที่สะดวกกว่าโดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ที่มีรายการ Driver อยู่ใน CUPS อยู่แล้วเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: